บทความ

มาทำความรู้จักกับ Equalizer อย่างลึกซึ้งกันเถอะครับ

โดย Millionhead ในวันที่ 01 มิ.ย. 2560, 15:51 น.

image

EQ คืออะไร ย่านความถี่ต่างๆมีผลต่อเสียงอย่างไร บทความนี้ มีคำตอบ !!!

ถ้าคุณเป็นคนที่รักเสียงดนตรี ชอบฟังเพลง หรือเล่นดนตรี คุณย่อมจะเคยเห็นเจ้า Equalizer หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า EQ นั่นเอง เพราะเจ้า EQ นี้มีอยู่ทั่วทุกที่ ตั้งแต่ในโปรแกรมฟังเพลงต่างๆในคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงในสตูดิโอบันทึกเสียงขั้นเทพ ต่างก็ต้องมีเจ้า EQ นี้อยู่ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นในแบบ Software เช่นในโปรแกรมทำเพลงต่างๆบนคอมพิวเตอร์ หรือจะเป็น Hardware อันใหญ่ๆที่เราคงได้เคยเห็นกันตามห้องบันทึกเสียง เรียกได้ว่ามันเป็น 1 ในสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ส่วนจริงๆแล้ว มันคืออะไร ทำงานอย่างไรบ้าง เดี๋ยวเรามาลองดูกันเลยดีกว่าครับ

Equalizer หรือ EQ คืออุปกรณ์สำหรับปรับระดับความดังของย่านเสียงย่านต่างๆ เพื่อให้เราได้เสียงอย่างที่เราต้องการนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพื่อการฟังเพลงให้ได้เสียงอย่างที่เราชอบ ไปจนถึงการปรับบาลานซ์ย่านต่างๆอย่างละเอียดในการแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ โดยถ้าเราจะเริ่มอธิบายกัน เราคงต้องมาเริ่มกันที่ความหมายของคำว่า ความถี่กันก่อน

Frequencies (ความถี่)
เสียงทุกเสียงที่เราได้ยินรอบๆตัว ไม่ว่าจะเป็นเสียงรถ เสียงนกร้อง เสียงฝนตก หรือเสียงใดๆก็ตามนั้น ล้วนแต่เกิดมาจากการสั่นสะเทือนทั้งสิ้น โดยยิ่งสั่นสะเทือนเร็วมากเท่าไหร่ เสียงก็จะสูงมากขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างได้ง่ายๆจากเวลาที่เราร้องเพลง ให้ลองใช้มือแตะที่คอของเรา แล้วลองทำเสียงสูงสลับกับเสียงต่ำ จะเห็นได้ว่าเวลาที่เราร้องเสียงสูงๆ คอของเราจะสั่นรัวกว่าเวลาที่เราร้องเสียงต่ำๆนั่นเอง ทีนี้ หน่วยที่เราใช้ในการวัดความถี่ของการสั่นสะเทือนที่เป็นมาตรฐานสากลนั้นคือหน่วย เฮิร์ตซ์(hertz ย่อสั้นๆว่า Hz) โดย 1 Hz คือความถี่ที่เท่ากับการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียง 1 ครั้งต่อวินาทีนั่นเอง

                                                     

แต่เนื่องจากหูของคนเรานั้น ไม่สามารถได้ยินทุกความถี่ได้ แต่จะรับได้จำกัด โดยตามทฤษฏีจะบอกว่า หูของมนุษย์นั้นสามารถได้ยินเสียงได้ตั้งแต่ 20Hz ถึง 20,000Hz (หรือเรียกย่อๆว่า 20kHz) แต่ตามความเป็นจริงแล้วนั้น ยิ่งเราแก่ตัวลง หูของเราจะยิ่งได้ยินเสียงสูงๆได้น้อยลง เหลือเพียงแค่ราวๆ 15-16 kHz เท่านั้น ทีนี้ถ้าเราลองมองไปบนแผง EQ จะเห็นได้เลยว่า ย่านต่างๆที่สามารถปรับได้บนตัว EQ นั้นจะเริ่มต้นที่ประมาณ 20Hz ถึง 20kHz เท่านั้น เพราะถึงมีให้ปรับย่านที่เกินกว่านี้ แต่ปรับไปเราก็ไม่ได้ยินอยู่ดีนั่นเอง เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ย่านความถี่ต่างๆจะถูกแบ่งออกดังนี้


- Sub Bass : 20 Hz – 60 Hz
เป็นย่านความถี่ต่ำสุดของงานมิกซ์ เป็นย่านที่ให้ความรู้สึกมากกว่าที่จะได้ยิน เป็นย่านที่ควบคุมความกระหึ่ม ความรู้สึกของการสั่นสะเทือน โดยส่วนใหญ่เสียงที่ย่านนี้ถูกผลิตออกมาจากลำโพงซับวูฟเฟอร์ การบูสเสียงในย่านนี้มากเกินไปจะทำให้เพลงดูมีพลังเกินไป แต่ถ้าลดมากเกินไปก็จะทำให้เพลงขาดพลัง

- Bass: 60 to 250 Hz
เป็นย่านที่ส่งผลต่อความแน่นของเพลง เป็นความถี่ระดับพื้นฐาน (Fundamental) ของกีตาร์เบส และ เครื่องดนตรีประเภทให้จังหวะ อย่างเช่น Kick-drum ย่านความถี่นี้จะควบคุมความเต็มแน่น ของเสียงนั้นๆ



- Low Midrange: 250 to 500 Hz
เป็นย่านความถี่เสียงควบคุมความคมของเสียงย่านเบส การบูสย่านความถี่ช่วง 300 Hz จะช่วยให้เครื่องดนตรีที่ผลิตเสียงความถี่ต่ำมีโทนเสียงที่ชัดเจนขึ้น ส่วนการบูสในช่วง 500 Hz มากเกินไปจะทำให้เสียงดูอู้ เครื่องดนตรีประเภทให้เสียงย่านความถี่กลาง (Mid-range) เช่น กีตาร์, เสียงร้อง และ คีย์บอร์ด จึงมักนิยมที่จะคัทย่านความถี่ในช่วงนี้ลง เพื่อทำให้เสียงไม่อู้จนเกินไป



- Midrange: 500 Hz to 2 kHz
เป็นย่านที่ใช้กำหนดความโดดเด่น ความชัดเจน ของเครื่องดนตรีต่างๆ ในเวลามิกซ์ ย่านความถี่นี้สำคัญสำหรับเสียงพูด การปรับเพิ่มระดับเสียงในย่านนี้มากเกินไป อาจจะทำให้หูล้าได้ เมื่อฟังไปนาน ๆ 



- Upper Midrange: 2 to 4 kHz
เป็นย่านที่หูคนเราสามารถตอบสนองกับย่านนี้ได้ดีมาก ทำให้การบูสหรือคัทความถี่ต่างๆในช่วงนี้เพียงนิดเดียวก็ส่งผลต่อเสียงเป็นอย่างมาก โดยปกติแล้วเสียงในย่านนี้จะเป็นเสียง Attack ของเครื่องดนตรีเช่นกลองเป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นย่านที่ส่งผลต่อความโดนเด่น ความคมของเสียงร้องอีกด้วย การปรับเพิ่มระดับเสียงในช่วง 3 kHz มากเกินไปจะทำให้หูล้าได้เหมือนกัน



- Presence: 4 kHz to 6 kHz
เป็นย่านที่ส่งผลโดยตรงต่อความคมชัดของซาวด์โดยรวม นอกจากนี้ยังควบคุมความรู้สึกเรื่องระยะทาง ความใกล้-ไกลของเสียงต่างๆ การบูสเสียงในย่านนี้จะทำให้เสียงดูหยาบ กระด้าง ขณะเดียวกันถ้าคัทมากเกินไปก็จะทำให้รู้สึกเหมือนเครื่องดนตรีต่างๆอยู่ห่างออกไป



- Brilliance: 6 kHz to 20 kHz
ย่านนี้จะสัมพันธ์สอดคล้องกับ ความใส/ชัดเจน, เสียงฉ่า (Sizzle) และ “Air” ของงานมิกซ์ การบูสในช่วง 12 kHz ขึ้นจะทำให้ซาวด์ดู Hi-Fi ขึ้น แต่ก็ควรระวัง เพราะการบูสที่มากเกินไปในย่านนี้อาจะทำอันตรายต่อหู



หลังจากที่เราได้ทราบกันไปแล้วว่า เสียงเกิดจากอะไร หน่วย Hz คืออะไร และเสียงในย่านต่างๆนั้น อยู่ในช่วงกี่เฮิร์ตซ์ถึงกี่เฮิร์ตซ์ ทีนี้ก็ทุกคนก็คงพอจะเข้าใจหลักการทำงานอย่างคร่าวๆแล้วว่าเจ้า EQ นี่มันใช้งานอย่างไร แต่เพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เรามาลองทำความรู้จักกับประเภทต่างของ EQ กันดีกว่าครับ


ประเภทของ EQ

หลักๆแล้วเจ้าเครื่อง EQ จะมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่

                                 

1. Parametric Equalizer
จะเป็นแบบที่ละเอียดที่สุด และค่อนข้างซับซ้อนต่อการใช้งาน เราสามารถเลือกย่านความถี่ได้แบบอิสระ  โดย EQ ประเภทนี้ถือเป็นประเภทหลักที่ใช้สำหรับการมิกซ์เพลงเนื่องจากความละเอียดในการปรับของมัน พบได้ในโปรแกรมทำเพลงต่างๆ


                                 


2. Graphic Equalizer
โดยปกติแล้ว EQ ชนิดนี้มักจะเชื่อมต่อเข้ากับ Mixer Output เพื่อปรับซาวด์โดยรวม แต่ก็ยังมีแบบ Software ในคอมพิวเตอร์เช่นกัน โดย Graphic EQ นั้นแต่ละย่านความถี่นั้นจะถูกแยกอย่างละเอียด  EQ แบบนี้พบได้ตั้งแต่ในโปรแกรมฟังเพลงทั่วๆไป ไปจนถึงตามเอฟเฟ็คกีต้าร์ สตูดิโอห้องอัด และงานคอนเสิร์ตต่างๆนั่นเอง


เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์แก่ทุกท่านไม่มากก็น้อยที่ สำหรับวันนี้ Admin คงต้องขอตัวลาไปก่อน ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ติดตามกันได้ที่ www.millionheadpro.com/blog นะครับ ไว้พบกันใหม่คราวหน้า สวัสดีครับ

ปล.ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็ปไซต์
https://www.digitaltrends.com/home-theater/eq-explainer/
https://www.teachmeaudio.com/mixing/techniques/audio-spectrum/




 

สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

Line@ : @millionheadpro
Facebook : millionheadpro
Instagram : millionheadpro