บทความ

ทำความรู้จักกับ Latency และ Delay Compensation

โดย Millionhead ในวันที่ 09 ก.ค. 2565, 16:00 น.

image

ทำความรู้จักกับ Latency และ Delay Compensation

 

ในอดีตถึงปัจจุบัน ดิจิตอลเข้ามามีบทบาทในการบันทึกเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ เสียงที่เราบันทึกเข้าไปใน DAW และเสียงที่ Playback ออกมาผ่านลำโพงที่เราได้ยินกันนั้น ผ่านกระบวนการทางดิจิตอล โดยแอดจะยกตัวอย่างการทำงานหลักๆ เช่น การเปลี่ยนรูปสัญญาณ Analog เป็น Digital เพื่อส่งข้อมูลไปยัง Host หรือชิปประมวลผลกลาง(CPU) แล้วทำการส่งต่อข้อมูลในแบบ Digital กลับมาเพื่อทำการแปลงสัญญาณให้เป็น Analog นำไปใช้งานนะครับ

 

ในกระบวนการนี้ ระบบจะใช้เวลาส่วนหนึ่งในการประมวลผล และแปลงรูปสัญญาณ สิ่งนี้นี่เองที่เรียกว่า “ Latency ” หรือเวลาแฝงนั่นเอง โดยเวลาแฝงนี้ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการประมวลผลของ Host ซึ่งจะมาจากตัวแปลดังนี้ Sample Rate, Bit Depth, Buffer Size เป็นต้น

 

กลับมาที่ Host หรือ CPU ในยุคแรกๆ ของ DAW นั้น การที่เราใส่ปลั๊กอินลงไปในแทร็กเยอะๆ จะทำให้ CPU ของเราต้องใช้เวลาในการประมวลผลที่นานกว่าปกติ ซึ่งจะมีผลทำให้แทร็กนั้นเกิดอาการหน่วง (มีหน่วยเป็น Sample) ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อจังหวะของดนตรี หรือการทำให้เกิดเฟส และอีกหลายๆ อย่างตามมา วิธีแก้คือ เราต้องทำการหน่วงเวลาแทร็กอื่นๆ โดยการเลื่อนด้วยมือ หรือใช้ปลั๊กอินที่ชื่อว่า Time Adjuster เพื่อทำการชดเชยเวลาให้เราสามารถได้ยินทุกแทร็กพร้อมกัน เมื่อมีการ Playback เกิดขึ้น

 

อีกไม่กี่ปีต่อมาใน DAW ในยุคใหม่ๆ ได้พัฒนาระบบที่จะช่วยในเรื่องของการชดเชยความล้าช้านี้ ทำให้การกำหนดเส้นทางภายในและการเชื่อมต่อปลั๊กอินทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องมีการชดเชย สิ่งนี้เรียกว่า “ Delay Compensation “ โดยระบบจะทำการปรับเวลาแฝงอัตโนมัติ เมื่อมีการหน่วงเวลาเกิดขึ้นที่แทร็กใดแทร็กหนึ่ง เช่น แทร็กที่ 1 มีการล่าช้าไป 1024 Sample ระบบก็จะทำการชดเชยเวลาของแทร็กที่เหลือทั้งหมดให้มีค่าเท่ากับ 1024 Sample เช่นกัน และหากสมมุติ แทร็กที่ 4 มีการล่าช้าไป 64 Sample ระบบก็จะทำการชดเชยความล้าช้าของแทร็กนี้ที่ 960 Sample เพื่อให้ทุกแทร็ก Playback พร้อมกันนั่นเอง

 

นี่ก็เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจการทำงานของ Latency และ Delay Compensation กันมากขึ้นนะครับ

 

ปัจจุบันมีการพัฒนา DAWs ให้สามารถใช้งานได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้นแล้ว ไม่ต้องยุ่งยากแบบเมื่อก่อน ข้อมูลที่แอดได้นำเสนอนี้เป็นเพียงการเล่าสู่กันฟังเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจการทำงานต่างๆ และวิวัฒนาการของระบบดิจิตอลในงานผลิตเสียงนั่นเอง

 

สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

Line@ : @millionheadpro
Facebook : millionheadpro
Instagram : millionheadpro